5 คำถามที่ทำให้เข้าใจ นิรโทษกรรมคดีการเมือง – BBC News ไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนชุมนุมต่อต้านการผลักดันกฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ พ.ย. 2556

เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วนับจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 5 ต.ค. โดยคาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็น “หมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน” และทำให้ “สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่”

ทว่าได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งคนในและนอกสภา เมื่อแกนนำพรรค ก.ก. ระบุว่า การนิรโทษกรรมจะครอบคลุมถึง “คดี 112” หรือคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

จุดเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมระลอกใหม่จะลงเอยอย่างไร บีบีซีไทยสรุป 5 คำถาม-คำตอบน่าสนใจเกี่ยวการนิรโทษกรรมในการเมืองไทย

1. นิรโทษกรรมคืออะไร?

นิรโทษกรรมคือการออกกฎหมายยกเว้นความผิดให้แก่การกระทำบางอย่าง ทำให้ผู้กระทำผิดก่อนหน้านี้ ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ โดย “เสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำนั้น ๆ มาก่อน”

โดยทั่วไป กฎหมายนิรโทษกรรมจะกำหนด 3 เงื่อนไขคือ ระยะเวลาในการกระทำผิด ตัวผู้กระทำความผิด และประเภทของความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผลที่ตามมาคือ

  • หากผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้อง “หยุดคดี” ระงับการสอบสวนหรือส่งฟ้อง
  • ถ้าเป็นจำเลยในชั้นศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องถอนฟ้อง ถ้าอัยการไม่ถอนฟ้อง จำเลยอาจร้องขอหรือศาลเห็นเอง ก็อาจพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีได้
  • ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษอยู่ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เสมือนว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดมาก่อน

จุดน่าสังเกตคือ การนิรโทษกรรมไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำผิด แต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบของกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องรับโทษ

2. ไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วกี่ครั้ง?

ประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นหลังปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2475 มีเนื้อหา 3 มาตรา กำหนดให้บรรดาการกระทำทั้งหลายของคณะราษฎร หากเป็นการละเมิดกฎหมาย ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย

จากนั้นในรอบ 9 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาคณะรัฐประหาร 11 ครั้ง โดย 9 ครั้ง ออกในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ว่าจะเป็น รัฐประหารปี 2476, 2490, 2494, 2500, 2501, 2514, 2519, 2520, 2534

ทว่ากับการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกเขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 37 และรัฐธรรมนญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 48 ตามลำดับ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คปค. เป็นคณะรัฐประหารชุดแรกที่เขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเหตุการณ์อื่น ๆ อีก 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 3 ครั้ง ได้แก่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535

ในเหตุการณ์หลัง เป็นการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535 โดยยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ต่อมา 154 สส. ได้ยื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง คือ ไม่เป็นกรณีประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แล้ว

สุดท้าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 ต.ค. 2535 มีมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป แต่ไม่กระทบกับการนิรโทษกรรมที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว

3. ทำไมนิรโทษกรรมถึงเป็นของแสลงการเมืองไทย?

แม้ผู้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมทุกยุค อ้างเหตุผลเรื่องการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อในคำพูดมากกว่าการกระทำ

ภาพการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าสภาและพิจารณาอย่างเร่งรีบเมื่อ 10 ปีก่อน น่าจะยังติดตาติดใจใครหลายคน แม้แต่คนเพื่อไทยเองก็ยอมรับว่า “มีประสบการณ์เรื่องนิรโทษกรรมที่ได้รับความเจ็บปวด”

สุเทพ เทือกสุบรรณ สส. พรรคประชาธิปัตย์ (ในเวลานั้น) เป่านกหวีด-ระดมพลต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “สุดซอย-เหมาเข่ง” เมื่อ 31 ต.ค. 2556 เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีเป้าหมายช่วยผู้ชุมนุมคนตัวเล็กตัวน้อย แต่มีวาระซ่อนเร้นในการ “ล้างผิด” และ “ฟอกขาว” ให้แก่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศ (ในเวลานั้น)

ก่อนที่ “มวลชนนกหวีด” จะกลายร่างเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และยกระดับเป้าหมายจาก ล้มกฎหมาย เป็น ขับไล่รัฐบาลน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งจบลงด้วยการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 โดย คสช. ในท้ายที่สุด สิ้นสุดภารกิจการชุมนุม 204 วันของ กปปส.

การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2556 จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบรัฐบาลยิ่งลักษณ์

4. นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลเป็นอย่างไร?

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต่อประธานรัฐสภา 5 ต.ค. โดยระบุว่าตั้งใจยื่นก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองของก้าวไกล ที่รอการบรรจุเข้าสภา มีเนื้อหา 14 มาตรา กำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นความผิดทางกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

ถ้าดูตามระยะเวลาที่พรรค ก.ก. เขียนไว้ในร่างกฎหมาย มีแกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้าข่ายได้รับอานิสงส์หลากหลายกลุ่ม

  • 2549-2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
  • 2552-2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
  • 2556-2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
  • 2557-2562 ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช.
  • 2563-2564 คณะราษฎร/ราษฎร และเครือข่าย

ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการลบล้างความผิดหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะพรรค ก.ก. ตั้งเงื่อนไขว่า จะไม่มีผลรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ว่าเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่ากระทำในขั้นตอนใด หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ, ไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดต่อชีวิต และความผิดตามมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยชี้เป้าไปที่นายพลผู้ก่อรัฐประหารโค่นล้มการปกครองของรัฐบาลพลเรือน ทว่าโดยเทคนิคทางกฎหมาย ผู้นำรัฐประหารได้ชิงออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองไปหมดแล้ว

แต่ทั้งหมดนี้จะมี คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง เป็นคนเคาะขั้นสุดท้ายว่าจะให้นิรโทษกรรมให้คนกลุ่มไหน อย่างไร และประเภทของการกระทำผิดคืออะไร

5. แรงต้านนิรโทษกรรมคดี 112 รุนแรงแค่ไหน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของก้าวไกลนั้นมีความสลับซับซ้อนกว่ายุคเพื่อไทย เพราะนักการเมืองก้าวไกลตีความว่าคดี 112 เป็นส่วนหนึ่งของ “คดีทางการเมือง” และมองว่าจำเป็นต้องรวมเรื่องนี้เข้าไปด้วย เพราะมีนัยสำคัญกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ชัยธวัชยอมรับว่าเป็น “คดีที่สร้างความรู้สึกไม่พอใจทางการเมืองอย่างรุนแรง”

นับจากเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ตามการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

การนิรโทษกรรมคดี 112 ทำให้สังคมไม่มั่นใจในชะตากรรมของกฎหมายนิรโทษกรรมระลอกใหม่ แม้พรรค ก.ก. มีจำนวน สส. มากที่สุดในสภาก็ตาม

อย่าลืมว่าที่พลพรรคก้าวไกลต้องตกที่นั่งฝ่ายค้านในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ สว. และ สส. บางส่วนไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้เสียงสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก.ก. ในรัฐสภาไม่เพียงพอต่อการส่งเขาเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยคนกลุ่มเดียวกันนี้เริ่มออกมาดักคอไว้แล้วว่าการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดี 112 เข้าไปด้วย

ในระหว่างนี้ หัวหน้าพรรค ก.ก. จึงเดินสายพบปะพูดคุยกับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในทางลับและทางแจ้ง ที่ปรากฏเป็นข่าวคึกโครม หนีไม่พ้น กรณีเข้าพบ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ และอดีตแกนนำ กปปส.

อีกคำถามที่พรรคสีส้มต้องตอบสังคม หนีไม่พ้น คำครหาเรื่องการออกกฎหมายล้างผิด-เอื้อประโยชน์พวกพ้องหรือไม่ เนื่องจากแกนนำคณะก้าวหน้า/ก้าวไกลบางส่วนมีคดี 112 ติดตัว ซึ่งหัวหน้าพรรค ก.ก. เชื่อว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และแกนนำพรรคที่โดนคดีการเมืองจะยื่นขอไม่ใช้สิทธิเพื่อเข้าสู่การพิจารณานิรโทษกรรม ซึ่งร่างกฎหมายของพรรค ก.ก. เปิดช่องให้สละสิทธิได้

นอกจากร่างของพรรค ก.ก. ยังมีร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ให้ลบล้างความผิดย้อนหลังตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565 แต่ไม่รวมความผิดคดีทุจริต และคดี 112

ขณะที่พรรค พท. ในฐานะแกนนำรัฐบาลออกมาประกาศว่า

มีความพร้อมที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับร่างของพรรค ก.ก. แต่เสนอว่าให้ดึงวาระร้อนไปพูดคุยในที่ประชุมวงเล็กก่อน โดยเตรียมเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรม ก่อนเสนอร่างกฎหมายฉบับเพื่อไทย