โครงสร้างแบบเพื่อไทย vs โครงสร้างแบบก้าวไกล | คำ ผกา | มติชนสุดสัปดาห์

ฉันคิดว่าการถกเถียงเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตระหว่าง ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล ตามมาด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะก้าวหน้า กับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะ รมช.ช่วยคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หัวเรือใหญ่เรื่อง THACCA และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาฯ นายกฯ เป็นเรื่องความแตกต่างของ “สำนักคิด” ทางเศรษฐกิจการเมือง

เถียงกันให้ตายก็หาข้อสรุปไม่ได้ว่า “สำนักคิด” ของใครผิดหรือถูก

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฉันขอพูดในฝั่งของพรรคเพื่อไทยก่อน

ชัดเจนว่า แนวทางของพรรคเพื่อไทยคือเศรษฐกิจเสรีนิยม เน้นการแข่งขัน รัฐไม่เข้าแทรกแซง แต่เน้นบทบาทในฐานะที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก”

เมื่อรัฐอำนวยความสะดวกให้ทุกคนเหมือนกัน จากนั้นก็ไปแข่งขันกันเอง แต่ไม่ได้แปลว่าใครอ่อนแอก็แพ้ไป เพราะสำหรับทุนเล็ก ทุนรายย่อย ทุนขนาดกลาง ก็จะมีอีกแพ็กเกจหนึ่งสำหรับ empower คนกลุ่มนี้

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นในนโยบายของพรรคว่ามีเรื่องเปลี่ยนจากรัฐอุปสรรค เป็นรัฐอำนายความสะดวก จะทำ e government เปลี่ยนระบบราชการให้เป็น paperless มีนโยบายพักหนี้เกษตรกร สนับสนุนธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม พยายามเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร สร้างจิตวิญญาณแบบ enterprener ให้ประชาชน

พูดง่ายๆ คือ สร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจให้ทุกคนมีความสามารถในแข่งขัน สร้างช่องทางการ “เข้าถึง” โอกาสที่เท่าเทียมกัน สร้างช่องทางในเข้าถึงแหล่งเงินทุน

แต่ไม่ได้เข้า “อุ้ม” กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ไม่ปฏิเสธว่า ในระบบนิเวศน์เสรีแบบนี้ ย่อมมีกลุ่มที่ได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

ย้ำว่าในแนวทางแบบพรรคเพื่อไทยเน้นการเข้าถึง “โอกาส” ที่เท่ากัน

แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้อง “เท่ากัน” ในตอนจบ

เพราะนั่นขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน

ที่น่าสนใจคือ นโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ต้องการสร้าง “รัฐสวัสดิการ”

เพราะประเมินจากขนาดเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง ปริมาณของชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงพอที่จะเสียภาษีเงินได้ ยังมีแค่ร้อยละ 5 ของจำนวนประชากร

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำคือ “สวัสดิการโดยรัฐ”

เรามาดูข้อมูลกัน ว่าคนไทยมีเงินในบัญชีธนาคารกันอย่างไร

ฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 1,608 บัญชี ยอดรวมเงินฝาก 2,634,887 ล้านบาท

ฝากเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท มี 3,454 บัญชี ยอดรวมเงินฝาก 1,051,370 ล้านบาท

ฝากเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท มี 6,462 บัญชี ยอดรวมเงินฝาก 889,041 ล้านบาท

ฝากเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท มี 14,266 บัญชี ยอดรวมเงินฝาก 994,203 ล้านบาท

ฝากเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท มี 31,835 บัญชี ยอดรวมเงินฝาก 1,108,968 ล้านบาท

ฝากเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท มี 1.03 แสนบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 1,536,396 ล้านบาท

ฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท มี 1.78 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 4,372,387 ล้านบาท

ฝากเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 1.61 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 1,144,454 ล้านบาท

ฝากเกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท มี 3.15 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 994,575 ล้านบาท

ฝากเกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท มี 3,354,679 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 464,529 ล้านบาท

ฝากเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท มี 4.14 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 292,418 ล้านบาท

ฝากไม่เกิน 50,000 บาท มี 106.62 ล้านบัญชี ยอดรวมเงินฝาก 436,161 ล้านบาท

News Update: เปิดบัญชี ‘เงินฝาก’ คนไทย ส่วนใหญ่ 88.3% มีฐานเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ส่วนเศรษฐีฝากเงิน 500 ล้านขึ้นไป มีกระจุกเดียวเพียง 1,608 บัญชี

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ คนที่มีเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไปในบัญชีธนาคารมีประมาณ 200,000 คนเท่านั้นในประเทศนี้ และคนร้อยละ 88 ของประเทศมีเงินฝากในบัญชีเฉลี่ยที่ 4,240 บาท

สิ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนกันหมดคือความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ “รุนแรง” มากและเป็น “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้อย่างไ?

เราจะเก็บภาษีความมั่งคั่งของคนแสนกว่าคนมาทำรัฐสวัสดิการให้คน 60 ล้าน?

มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยจึงเลือกทำ “สวัสดิการโดยรัฐ”

โดยเลือกสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของมนุษย์มากที่สุดนั่นคือเรื่อง “สุขภาพ”

นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคคือ สวัสดิการโดยรัฐ มีงานศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจนว่า universal basic health care และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของประเทศไทยคือต้นแบบที่ทั้งโลกยกย่องว่า นโยบายนี้คืนศักดิ์ศรีให้กับมนุษย์ ทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน หรือไม่ต้องกลายเป็น “คนจน” เพียงเพราะต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิด และช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมได้

เราจะไม่พูดซ้ำซากว่าเก้าปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉุดรั้งประเทศไปขนาดไหน และทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่กำลังจะดีขึ้นกับแย่ลง

ในวันที่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงต้องการ “อัพเกรด”

นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค เป็น “สามสิบบาทพลัส”

ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรประชาชนใบเดียวเข้าได้ทุกโรงพยาบาล

การรับยาที่ร้านขายยาแทนการไปโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด

การให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกแก่เด็กผู้หญิงที่นำร่องไปแล้วนับล้านโดส

และหวังจะพัฒนากองทุนสุขภาพในประเทศไทศไทยจากสามกองเป็นกองเดียวให้ได้มาตรฐานสูงเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ประกันตน และข้าราชการ

ฉันไม่ได้เขียนเพื่อจะ “อวย” พรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว

แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ด้วยสำนักคิดทาง “การเมือง เศรษฐกิจ” ที่ไม่เหมือนกันระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ทำให้การมองปัญหา “เชิงโครงสร้าง” ต่างกัน

นำมาสู่การออกแบบนโยบาย หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน

เช่น ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ พรรคก้าวไกลต้องการเก็บภาษีคนที่มีเงิน 300 บาทในบัญชี

ต้องการเก็บภาษีที่ดินของคนที่ถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากให้ได้เยอะขึ้น

ต้องการตัดงบประมาณขอกองทัพ ต้องการยุบ กอ.รมน. ที่ได้งบฯ ไปมหาศาลในแต่ละปี

ถามว่าผิดไหมที่คิดแบบนี้ คำตอบคือไม่ผิด แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนส่วนใหญ่ จะเลือกวิธีของก้าวไกล หรือเพื่อไทย ซึ่งก็ไปวัดกันที่ผลเลือกตั้ง ที่แปลว่าต้องรวม ส.ส.ในสภาล่างให้ได้มากพอที่จะตั้งรัฐบาล และโหวตนายกฯ

และก็ต้องยอมรับว่า 151 ใน 500 เท่านั้นที่ต้องการแนวทางนี้

เมื่อไม่ได้เสียงข้างมาก ก็ทำให้ประเทศไทยเรายังไม่อาจจะใช้แนวนโยบายแบบพรรคก้าวไกลได้

กลับมาที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มันก็เป็นเรื่องการสมาทานวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และปัญหาเชิงโครงสร้างคนละแบบ

รัฐบาลเพื่อไทยมองว่า ประเทศมันไปต่อไม่ได้ด้วยจีดีพี 1.9 ต่อเนื่องมาเป็นสิบปี มาเจอตัวเลขไตรมาสล่าสุดแค่ 1.5 เข้าไปอีก ดังนั้น ระยะสั้นคือ เติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ

ระหว่างที่เติมเงินลงไปใน 6 เดือนแรก รัฐบาลต้องเร่ง ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ นายกฯ สวมบทเซลส์แมน ไปคุย ไปสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนจากทั่วโลก

ในเวลาเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ต้องรีบกระตุ้น มีมาตรการอะไรก็ต้องขุดออกมาใช้ให้หมด จะมานั่งทำงานเช้าชามเย็นชาม ปล่อยให้ทุกอย่างไปตามยถากรรมไม่ได้

กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องช่วยรัฐบาลขายของระยะยาว เป็นเรื่องการ “ลงทุนกับคน” และเปลี่ยน “คน” ให้เป็น “ทุน” ผ่านโครงการ ซอฟต์เพาเวอร์

ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปมายด์เซ็ตเกี่ยวกับ “การศึกษา” ของไทยด้วย พร้อมกันนั้นก็ต้องเร่งทำระบบราชการโปร่งใส open data ลดปัญหาการคอร์รัปชั่น

ดังนั้น ดิจิทัลวอลเล็ตจึงไม่ใช่การ “กู้เงินมาแจก” แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู ซ่อมแซม เศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำย่ำแย่มานับสิบปี เหมือนที่ทีมนโยบายพรรคพูดเสมอเรื่อง connect the dots ในภาพใหญ่ของนโยบาย

ไม่ใช่แยกเอามาพูดเป็นชิ้นๆ แล้วมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของทุกนโยบายที่เรียงร้อยมาอย่างดี

เออ คิดมาดูหรูหรา แต่จะทำได้จริงหรือเปล่า?

คำตอบคือ กูก็ไม่รู้ค่า

แต่เขาได้เป็นรัฐบาลไง เขาก็ต้องทำตามที่เขาคิดเอาไว้ ถ้าเขาทำไม่สำเร็จ ประชาชนก็เห็นว่า เออ ล้มเหลว เลือกตั้งคราวหน้าก็ลุ้นกันแหละว่าประชาชนจะยังเลือกกลับมาไหม

และหากถามว่า จะเอาประเเทศชาติเป็นเดิมพันเหลยเหรอ?

คำตอบ “ใช่ค่ะ ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ เราเลือกพรรคการเมืองไปเป็นรัฐบาลบนการประเมินของเรา”

และความเสี่ยงนี้ก็พอๆ กับที่หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล คนที่ไม่เชื่อในก้าวไกลก็คิดได้เหมือนว่า “นี่เอาประเทศชาติเป็นเดิมพันให้เด็กพวกนี้มาวิ่งเล่นนะเนี่ยะ”

แต่ถ้าก้าวไกลได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เราก็ต้องอนุญาตให้เขาทำในสิ่งที่เขาคิด แล้วให้ผลงาน กับความพอใจของประชาชนเป็นตัวตัดสินว่า เลือกตั้งอีก เราจะเลือกเขาเหมือนเดิม หรือจากที่ไม่เลือก จะเปลี่ยนมาเลือก

ถ้าศิริกัญญา หรือพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับ ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่ใช่อาชญากรรม ในฐานะฝ่ายค้านก็ออกมาพูดได้ว่า

หนึ่ง เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น

สอง จีดีพี 5% เป็นไปไม่ได้ เพราะ “โครงสร้าง” และ “ศักยภาพ” ที่เรามี เราไม่สามารถไปได้ถึงตรงนั้น สภาพเราตอนนี้เหมือน “ลา” จะมาโด๊ปให้มันเป็นม้าแข่ง มันตายก่อน

สาม เราเชื่อว่าจีดีพีสร้างได้ ด้วยการลงทุนภาครัฐ เช่น การทำน้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ ทำรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด จะมีการลงทุน การจ้างงาน จะเกิดธุรกิจใหม่ๆ เต็มไปหมด

สี่ เราจะทำหวยใบเสร็จ นั่นคือ เอาใบเสร็จห้าร้อยบาทขึ้นไป ไปแลกหวยรัฐบาล เป็นการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้น

ห้า เก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินคนรวย

แค่นี้ก็แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างเศรษฐกิจ สร้างจีดีพี

ฉันซึ่งไม่เห็นด้วย แต่ก็ยืนยันว่า จะมองแบบนี้ก็ไม่ผิด แล้วคนที่เห็นด้วยกับห้ามาตรการนี้ของก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ไปเลือกให้เขาได้เป็นรัฐบาล

แต่ที่ “ผิด” คือการสร้างความเข้าใจผิดๆ ว่า นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างในทางการเมืองคือ “ประชาชนมีชีวิตอย่างไร้ศักดิ์ศรี” เพราะความยากจน เมื่อยากจนจึงถูกดูถูกว่า โง่ เมื่อโง่เสียแล้ว จึงไม่สามารถ “ปกครองตนเอง” ได้

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ คือการ empower ประชาชนในทางเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่การ “แจกเงิน”

แต่เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประตุ้นเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ในเวลา 6 เดือน

และสิ่งที่ยืนยันว่าโครงการนี้เคารพในศักดิ์ศรี สติปัญญาของประชาชนคือไม่ไป “ก้าวก่าย” การตัดสินใจของประชาชนว่าจะเอาไปซื้ออะไร ขอแต่ไม่เอาไปใช้จ่ายกับอบายมุข หรือใช้ในกิจกรรมที่ไม่เกิด “ตัวคูณ” ทางเศรษฐกิจ เช่น ใช้หนี้ จ่ายค่าเทอม

และนั่นแปลว่า อาจจะมีคนนำ “สิทธิหนึ่งหมื่นบาท” นี้ไปต่อยอดตาม “ศักยภาพ ความสามารถ” ของแต่ละคน

สิ่งนี้คือ “ศักดิ์ศรี” ของพลเมือง และการออกแบบนโยบายที่เคารพประชาชน ไม่คิดแทนประชาชน ไม่ทำตัวว่าฉันคือ “คนมีการศึกษา จึงรู้ดีกว่าชาวบ้าน”

สำหรับฉัน สิ่งนี้แหละคือหัวใจของโครงการการเมืองแบบประชาธิปไตย สิ่งนี้คือการแตะไปที่ “โครงสร้าง”

ที่ฉันประหลาดใจ พรรคที่ลุ่มหลงอยู่กับคำว่า “โครงสร้าง” กลับมองเรื่องโครงสร้างคับแคบว่า ถ้าไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถ้าไม่แก้ 112 ถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพ ถ้าไม่ปฏิรูประบบภาษี ถ้าไม่เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลง “โครงสร้าง”

คำถามของฉันคือคำว่า “โครงสร้าง” มันตื้นเขินขนาดนั้นเลยหรือ? แค่ยกเลิก 112 แล้วมันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้เลยหรือ หากมิติอื่นๆ ทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเราในฐานะพลเมืองไม่ได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมา

หรือเอาเข้าจริงๆ ประเด็น 112 ควรเป็นการพูดในมิติของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่ไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายมาตราใดมาตราหนึ่ง รวมไปถึงการปฏิรูปเรือนจำ การสังคายนา คอนเส็ปต์ของการ “ทัณฑสถาน” ของไทยใหม่ทั้งหมด มากกว่าการเข้าใจว่า กฎหมายหนึ่งมาตรา เท่ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

สำหรับฉันการมีรัฐบาลและนายกฯ จากพรรคการเมืองที่เห็น “หัว” ประชาชน ก้มหน้าก้มตาทำงานงกๆ ด้วยหวังว่า ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงนั้นจะมีชีวิตที่มั่งคั่งสง่างามและมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในตัวเอง

ส่วนเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ก็ให้ประชาชนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหล่านี้ “เลือก” ด้วยตัวเขาเองว่าอยากมีอะไร และไม่อยากมีอะไร

สิ่งนี้แหละคือการแตะไปที่ “โครงสร้าง”