เพื่อไทยปิดดีลรัฐบาล 314 เสียง แจกเก้าอี้ ครม. 6 พรรค มั่นใจเสียงโหวตหนุนเศรษฐานั่งเก้าอี้นายกฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค เริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า “ไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล”

พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัว 11 พรรคร่วมรัฐบาลรวม 314 เสียงอย่างเป็นทางการ ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 พรุ่งนี้ โดยมีพรรค “2 ลุง” ร่วมด้วยตามคาด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว แต่ส่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และนายไผ่ ลิกค์ กรรมการบริหารพรรค มาร่วมแทน

พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรการเมืองยืนยันว่า จะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. ต่อที่ประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. และมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของ สส. และ สว.

“ขณะนี้เราแสวงหาคะแนนเสียงให้แก่นายเศรษฐา อยู่ในขั้นที่เรามีความมั่นใจ และพึงพอใจในจำนวนที่เราได้รับ จึงมีความมั่นใจว่าในวันพรุ่งนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวระหว่างนำทีม 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแถลงข่าวที่รัฐสภา ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ส.ค.)

“ไม่มีแผน เรามั่นใจว่าผ่าน” หัวหน้าพรรค พท. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังถูกถามถึงแผนเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ หากชื่อนายเศรษฐาไม่ผ่านการโหวต

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แคนดิเดตนายกฯ รายนี้ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือศรัทธา ด้วยปฏิบัติการ “แฉเพื่อชาติ” ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่ออกมาแถลงข่าวกล่าวหา บมจ.แสนสิริ ที่มีนายเศรษฐาเป็นอดีตผู้บริหาร “ทำนิติกรรมอำพราง” ในการซื้อขายที่ดิน พร้อมส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการพิจารณาเลือกนายกฯ แล้ว

ด้านนายเศรษฐาได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเมื่อ 18 ส.ค. และ “แฉกลับ” ว่า นายชูวิทย์โกรธที่บริษัทไม่ได้ซื้อที่ดินของตัวเอง ทำให้ต่างฝ่ายต่างฟ้องหมิ่นประมาทกันไปมา

รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) กำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ทนายความของเศรษฐา ทวีสิน ฟ้องหมิ่นประมาทชูวิทย์ กมวิศิษฎ์ เมื่อ 8 ส.ค. หลังแถลงข่าวทำให้เศรษฐา “ได้รับความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ” และ “ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชน”

แม้มีเสียงเรียกร้องจาก สว. บางส่วนให้นายเศรษฐาแสดงวิสัยทัศน์กลางรัฐสภา และตอบข้อซักถามของสมาชิก แต่มติคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายเมื่อ 18 ส.ค. ระบุว่า “ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์” โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้เอาไว้

เช่นเดียวกับพรรคต้นสังกัดของนายเศรษฐา ที่เตรียมส่ง สส. ลุกขึ้นชี้แจงแทนหากถูกพาดพิง

ส่วนจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร หลังว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง และเลือกที่จะไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภานั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ ยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับรัฐสภาเป็นหลัก ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ยืนยันว่า นายเศรษฐาผ่านการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ฉะนั้นจึงมั่นใจเรื่องคุณสมบัติ

ต้องหาอีก 60 เสียง สว. โหวตหนุนเศรษฐา

พรรค พท. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร พลิกมารับบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งชนะเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. แต่ไม่อาจส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เข้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. “ขั้วอำนาจเดิม” และ สว. เกือบทั้งสภาสูง ทั้งนี้ พรรค พท. ได้ “ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมฯ เดิม” เมื่อ 2 ส.ค. พร้อมผลักพรรคสีส้มให้ตกที่นั่งฝ่ายค้าน

สำหรับ 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีเสียงในสภาล่างรวมกัน 314 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง), พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง)

นอกจากนี้ยังมีหัวหน้าพรรคใหม่ (1 ที่นั่ง) มาร่วมแถลงข่าวด้วย แต่ไม่ถูกนับเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลตามแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ออกมา โดยเลขาธิการพรรค พท. ระบุว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการ”

นั่นหมายความว่า พรรค พท. ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก สว. อีก 60 เสียง ถึงจะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนน “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 จาก 747 เสียง (สส. 498 คน และ สว. 249 คน)

ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล และเตรียมเป็นฝ่ายค้านมีทั้งสิ้น 6 พรรค รวม 183 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (เหลือ สส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 149 ที่นั่ง), พรรคประชาธิปัตย์ (25 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง), พรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน (1 ที่นั่ง)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. กับ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. ทักทาย ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ถูกเรียกว่า “พี่อ้วน” รองหัวหน้าพรรค พท.

แก้ รธน. ไม่แตะหมวดสถาบันฯ

นอกจากปมร้อนว่าด้วยการซื้อขายที่ดินใจกลางกรุง วุฒิสมาชิกบางส่วน เช่น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายจเด็จ อินสว่าง ได้ออกมาเปิดประเด็นอื่น ๆ ที่ สว. ติดใจ และบอกใบ้ว่าทำให้ชื่อนายเศรษฐา “ผ่านยาก”

ในจำนวนนี้คือ นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยใช้กลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่ง สว. ชี้ว่าอาจกระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ และถือเป็นการ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”

แถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ระบุตอนหนึ่งว่า “จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์”

เมื่อถูกถามย้ำว่า พรรคร่วมฯ มีเงื่อนไขว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ แกนนำพรรค พท. ปฏิเสธจะตอบคำถามนี้ตรง ๆ โดยบอกเพียงว่า เนื้อหาในแถลงการณ์นั้นชัดเจนแล้ว แต่ยืนยันว่าเจตจำนงของพรรคร่วมฯ คือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี สสร.

แถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคเริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า “ไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล”

นอกจากนี้แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของ พท. ที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet), ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้ พรรคร่วมฯ จะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายต่อไป

ชลน่านจ่อลาออกหัวหน้าพรรคหลังตั้งรัฐบาลเสร็จ

ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลที่แกนนำเพื่อไทยเรียกว่า “รัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง” ทำให้พรรค พท. ถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยนักการเมืองและผู้สนับสนุนพรรค ก.ก. ต่างเรียกขานว่า “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” หรือ “รัฐบาลชุดเดิมเพิ่มเติมคือเพื่อไทย”

ในจำนวน 11 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย พบว่า 5 พรรคเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์” มาก่อน โดยแกนนำทั้ง 5 พรรคได้รับเชิญให้ไปพูดคุย ณ ที่ทำการพรรค พท. ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. ก่อนออกมาประกาศเงื่อนไขว่า ต้องไม่แตะต้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต้องไม่มีพรรค ก.ก. เป็นพรรคร่วมฯ

ที่สำคัญ มีการดึงเอาพรรค “2 ลุง” มาร่วมด้วย เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.ชุดเฉพาะกาล 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็น พรรค พปชร. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “ลุงป้อม” เป็นหัวหน้าพรรค หรือพรรค รทสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “ลุงตู่” เป็นอดีตประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ก่อนประกาศ “วางมือการเมือง” และลาออกจากตำแหน่งไปแล้วภายหลังการเลือกตั้ง

ในช่วงหารณรงค์เสียงเลือกตั้ง แกนนำพรรค พท. ไม่ว่าจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ต่างออกมาประกาศว่าจะไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับพรรค “2 ลุง”

ต่อมา เมื่อถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลสุ้มเสียงก็เริ่มอ่อนลง โดยวันแรก ๆ นพ.ชลน่าน บอกว่าไม่มี “2 ลุง” แต่ไม่ปฏิเสธเงื่อนไขการมี สส. สว. ในลักษณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาโหวตให้นายกฯ เพื่อไทย เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ทว่าเมื่อพรรค พปชร. และพรรค รทสช. เข้าร่วมรัฐบาลแบบยกพรรค ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์นำคำเดิมมาทวงถามผ่านแฮชแท็ก #ชลน่านลาออกกี่โมง จนติดเทรนด์ยอดนิยมของเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) อยู่หลายวัน เนื่องจาก นพ.ชลน่านเคยกล่าวไว้บนเวทีดีเบตของไทยรัฐเมื่อ 28 เม.ย. ว่า “ไม่จับมือกับพลังประชารัฐ ไม่จับมือ ไม่มีดีลกับลุงป้อม ถ้ามีจับมือ ผมลาออกจากหัวหน้าพรรค”

มาวันนี้ นพ.ชลน่าน แจกแจงความจำเป็นในการดึงพรรค พปชร. และ รทสช. เข้ามาร่วม ก่อนพูดถึงจุดยืนของตัวเอง

“ตั้งใจจะลาออก และตั้งใจจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ ไม่ปฏิเสธว่าจะไม่ลาออก แต่ภารกิจการเป็นหัวหน้าพรรคจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน วันที่เสนอชื่อ ครม. หรือรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะดำเนินการลาออก ประกาศอะไรไว้ก็จะรับผิดชอบ” หัวหน้าพรรค พท. กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีใช่หรือไม่ เขาไม่ได้ตอบคำถามนี้

วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวในรายการ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” 21 ส.ค. ว่า ได้ยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทยแล้ว โดยได้แจ้งนายเศรษฐา น.ส.แพทองธาร และผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว หลังสถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะมีการจับมือกับพรรค 2 ลุง “ผมได้บอกผู้ใหญ่ว่าถ้าถึงจุดนั้น ผมก็อยู่ในพรรคไม่ได้”

วานนี้ (20 ส.ค.) น.ส.แพทองธาร ออกมา “น้อมรับ” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และ “ต้องขอโทษที่ทำให้หลายคนรู้สึกผิดหวังหรือเสียใจ” โดยอ้างว่า เมื่อพรรค พท. แลนด์สไลด์ไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศชาติไปต่อ และยอมรับว่าพรรค พท. มีต้นทุนที่ต้องจ่าย และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว จะทำเต็มที่ แก้ปัญหาให้ประชาชน

6 พรรคร่วมโต๊ะ ครม. เพื่อไทยยึด 17 เก้าอี้

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ภายใต้รัฐบาลผสม 314 เสียง สูตรจัดเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) 35 ตำแหน่ง (ไม่รวมนายกฯ) “ควรอยู่ที่ 9 สส. ต่อ 1 รมต.”

ในระหว่างการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค นพ.ชลน่านได้เปิดสัดส่วนรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) ที่แต่ละพรรคได้รับ โดยมีเพียง 6 พรรคการเมืองที่จะได้เข้าไปนั่งเป็นฝ่ายบริหาร ดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้โควตา 17 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 8 ตำแหน่ง และ รมช. และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9 ตำแหน่ง
  • พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้โควตา 8 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 4 ตำแหน่ง และ รมช. 4 ตำแหน่ง
  • พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โควตา 4 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 2 ตำแหน่ง และ รมช. 2 ตำแหน่ง
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โควตา 4 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รมว. 2 ตำแหน่ง และ รมช. 2 ตำแหน่ง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้โควตา รมว. 1 ตำแหน่ง
  • พรรคประชาชาติ (ปช.) ได้โควตา รมว. 1 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคได้รับ ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขลอย ๆ แต่มีความป็นไปได้ว่ามีการจัดสรรกระทรวงกันลงตัวระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนผ่านคำกล่าวของ นพ.ชลน่านที่ยอมรับว่า ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องนำรายชื่อไปตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ทั้งหมดมีข้อตกลงที่ชัดเจนภายใต้การทำงานร่วมกัน

เศรษฐาอ้างคณิตศาสตร์การเมือง จำเป็นต้อง “ลืมวาทกรรมสองลุง”

วันเดียวกัน (21 ส.ค.) มีการประชุม สส. พรรค พท. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ โดยนายเศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ได้กล่าวเปิดใจต่อหน้าผู้แทนราษฎรของพรรค เล่าว่า เข้าสู่บ้านหลังนี้ภายใต้การเชิญโดย น.ส.แพทองธาร ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เดินเข้ามาคนเดียวไม่มีใครเข้ามา แต่ได้รับการประคับประคองอย่างดีจากสมาชิกพรรค และกราบขอบคุณทุกท่านด้วยใจจริง

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ,

เศรษฐา ทวีสิน ทักทาย สส. เพื่อไทยระหว่างการประชุมพรรคเมื่อ 21 ส.ค.

แคนดิเดตนายกฯ วัย 61 ปี กล่าวว่า ผลเลือกตั้งออกมาได้ สส. 141 เสียง ไม่เป็นตามที่คาดหวัง สิ่งที่พูดไประหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งคำพูดเป็นนาย อยู่บนบรรทัดฐานของ “แลนด์สไลด์” น.ส.แพทองธารได้พูดไปหลายเรื่องเกี่ยวกับการที่เราต้องกลืนเลือด เพื่อพาพรรคได้เดินไปข้างหน้าและช่วยเหลือประชาชน มันไม่ได้เป็นการโกหกประชาชน แต่ต้องยอมรับความจริง เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาที่พรรค พท. ไม่ได้ถืออำนาจรัฐในมือ เป็นที่ประจักษ์ว่ามาตรฐานชีวิตประชาชนตกต่ำลง

“วันนี้เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลืมวาทกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ‘สองลุง’ ไม่ว่าจะเป็น ‘มีเราไม่มีลุง’ วันนี้คณิตศาสตร์การเมืองพื้นฐานบ่งบอกชัดว่าเราต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง”

“เรื่องการใช้วาทกรรมสังคมโซเชียลมีเดียด้อยค่าพรรคเพื่อไทย ในส่วนของตัวผม ก็เจ็บพอ ๆ กับพวกท่านทุกคน แต่เราอยู่ในสังคมของความเป็นจริง ยังมีคนจำนวนมาก ยังมีพี่น้องเกษตรกรอีกนับสิบล้านคนที่คอยการจัดตั้งรัฐบาล คอยโยบายดี ๆของพรรคเพื่อไทย… สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีรัฐบาลภายใต้การนำโดยพรรคเพื่อไทย” นายเศรษฐากล่าวและ ฝาก สส. อธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นนี้ เพื่อหล่อหลอมจิตใจให้ประเทศให้เดินไปข้างหน้า