คอลัมน์การเมือง – เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้รับคะแนน 35 จากคะแนนเต็ม100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน

เมื่อเทียบผลในปี 2022 ที่ไทยได้รับ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเดิมเลย 1 คะแนนที่ลดลงมา แทบจะไม่มีความหมายใดๆ เลย ทั้งนี้ เพราะดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันนั้น คำนวณผ่านดัชนีย่อยๆ อื่นๆ อีก 8 – 12 ดัชนีย่อย ที่สัมภาษณ์ทั้งนักธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันในมุมมองต่างๆ เช่น ความยุติธรรม การเมือง การลงทุน เป็นต้น

ที่สำคัญในปีนี้ TI ได้พุ่งเป้าปัญหาคอร์รัปชันไปที่ “ความอยุติธรรมในสังคม” โดย François Valérian ประธาน TI ได้อธิบายไว้ว่า“การคอร์รัปชันจะยังคงเติบโตต่อไปจนกว่าระบบยุติธรรมจะสามารถลงโทษการกระทำผิดและควบคุมรัฐบาลได้ เมื่อความยุติธรรมถูกซื้อหรือถูกแทรกแซงทางการเมือง ประชาชนจะเป็นฝ่ายที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ผู้นำควรลงทุนอย่างเต็มที่และรับประกันความเป็นอิสระของสถาบันที่รักษากฎหมายและต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ได้เวลาแล้วที่จะปล่อยให้คอร์รัปชันเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรับโทษ”

นอกจากนี้ TI ยังให้คำแนะนำสำหรับทุกประเทศที่ต้องการจะพัฒนาคะแนน CPI ให้ดีขึ้นอย่างกว้างๆ ไว้ 6 ข้อ ดังนี้ หนึ่ง เสริมสร้างความเป็นอิสระของระบบยุติธรรม สอง
ทำให้ความยุติธรรมมีความโปร่งใสมากขึ้น สาม นำเสนอกลไกความซื่อสัตย์และการตรวจสอบที่เข้มแข็ง สี่ ส่งเสริมความร่วมมือภายในระบบยุติธรรม ห้า ปรับปรุงการเข้าถึงความยุติธรรม และ หก สร้างและเพิ่มการรับผิดชอบในกรณีคอร์รัปชันของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งสังเกตได้ว่า TI พุ่งเป้าไปที่ระบบยุติธรรมอย่างชัดเจน เป็นจุดที่หน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันในไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจดัชนีนี้เพิ่มขึ้น ผมขอยกคำอธิบายที่เคยเขียนไปเมื่อต้นปีที่แล้วมาอีกครั้งนะครับ “อย่างแรก ก่อนไปดูคะแนน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า CPI เป็นดัชนีวัด “ภาพลักษณ์” การคอร์รัปชัน ดังนั้นมันมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดนะครับ ข้อดีคือ มันรวบรวมความคิดความเข้าใจของคนจำนวนมากที่มองว่าคอร์รัปชันรุนแรงแค่ไหนดังนั้นต่อให้รูปแบบการคอร์รัปชันมันเปลี่ยนไป จากสินบนไปจนถึงคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ดัชนีนี้ก็จะสามารถวัดได้ และที่สำคัญ มันมีอีกชื่อหนึ่งว่า Poll of Polls เพราะ CPI มันรวมคะแนนจากดัชนีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาคำนวณรวมเป็นค่าเดียวให้ดูง่ายๆ แล้ว ดังนั้นมันครอบคลุมเกือบทุกมิติของการคอร์รัปชันเลย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการวัด “ภาพลักษณ์” มันเลยมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ต่อให้สถานการณ์เปลี่ยนไปจริง แต่ความรู้สึกคนไม่เปลี่ยน ดัชนีก็ไม่เปลี่ยนนะครับ เรียกง่ายๆ ว่ามันมีความหนืดสูง นอกจากนี้การที่มีข่าวว่าเราจับโกงเยอะขึ้น แทนที่จะได้คะแนนดีขึ้น กลับแย่ลงเพราะสังคมได้เห็นว่ามีคดีโกงเยอะจากการเปิดเผยนั้น เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้ว สมัยที่บราซิลจับคดีการโกงครั้งใหญ่ได้ (ไปค้นได้ว่า Operation Car Wash) กลับทำให้คะแนนบราซิลดิ่งเหวเลยทีเดียว”

ในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ในงานเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วม” โดยศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน จุฬาฯ (KRAC) ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้เชิญ Professor Matthew C. Stephenson จาก Harvard University ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลก มาบรรยาย โดย Professor Stephenson ได้วิพากษ์แง่มุมของปัญหาและข้อจำกัดของดัชนี CPI และการนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน ก่อนจะให้ข้อสรุปว่าทำไมเราถึงไม่ควรใช้ CPI มาเป็น KPI ของหน่วยงานในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนี้

ประการแรก แม้ CPI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชัน แต่ CPI ไม่สามารถสะท้อนความเปลี่ยนแปลงแบบปีต่อปีได้ ซึ่งอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เพราะ CPI สะท้อนเพียงภาพลักษณ์แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดสถานการณ์จริงที่มีหลากหลายมิติ เช่น ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นว่า ในบราซิลที่มีการลงโทษคดีคอร์รัปชันขนาดใหญ่ได้สำเร็จ คนส่วนหนึ่งมองว่าการต่อต้านคอร์รัปชันมีความก้าวหน้า แต่บางส่วนมองว่าประเทศมีปัญหาคอร์รัปชันขนาดใหญ่ การตั้งCPI เป็น KPI จึงทำให้หน่วยงานมุ่งเน้นไปที่ CPI จนไม่ได้สนใจในแง่มุมอื่นร่วมด้วย ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพจากคะแนน CPI ที่ปรากฏ กลายเป็นการทำลายชื่อเสียงของหน่วยงาน แม้จะทำงานอย่างหนักแค่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ Professor Stephenson ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า ประเทศไทยควรมีการสร้างคณะกรรมการอิสระในการวัดผล โดยประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับประเทศในลักษณะเดียวกับ CPI โดยที่ภาคประชาสังคมเองก็สามารถมีส่วนร่วมผ่านการทำวิจัยและการทำผลสำรวจ เพื่อตรวจสอบการทำงานระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานเชิงจริยธรรมองค์กร แรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและวัฒนธรรมของคนในสังคม และเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพกว่าการพึ่งพาการสื่อสารไปที่ในระดับปัจเจกบุคคลว่าต้องเปลี่ยนแปลงความคิดตนเองก่อนถึงจะแก้คอร์รัปชันได้

โดยสรุปแล้ว ผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยในปีนี้ สามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม ยังต้องสู้กันต่อไปอีกมาก และเป้าหมายสำคัญที่ควรมุ่งไปคือ ระบบยุติธรรมของประเทศ ที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมอย่างแท้จริงครับ

 

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค