คอลัมน์การเมือง – คลองไทย ใครคุ้ม

โครงการขุดคลองไทยแนว 9 A เชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย กลับมาเป็นประเด็นข่าวอีกครั้ง

1. ตามแนวคิดโครงการคลองไทยแนว 9 A นั้น จะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่รวมระยะทาง 135 กิโลเมตร

อ้างว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200-3,500 กิโลเมตร และยังมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลองไทยขึ้นบริเวณปากคลองไทย รวมงบกว่า 2 ล้านล้านบาท

2.การพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน มิใช่ตาโตแต่เฉพาะกับมูลค่าผลประโยชน์ที่เสกสรรขึ้นมากล่าวอ้างเท่านั้น แต่จะต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ผลกระทบ ความคุ้มค่า และทางเลือกเชิงนโยบายอื่นๆ ด้วย

3.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คกระตุกให้คิดไว้เบื้องต้น ระบุว่า 

 

 

“มีข่าวเรื่องคลองไทยอีกครั้ง จึงอยากอัพเดทให้เพื่อนธรณ์ในส่วนที่ไม่มีในข่าว

– การศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่ออ่าวไทย/อันดามัน ดำเนินการโดยสภาพัฒน์ มาตั้งแต่ต้นปี 64 มีกำหนดเสร็จต้นปีหน้า

– การศึกษาทำโดยศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ มีการรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ

– การศึกษาไม่ใช่มีแค่คลองไทย ยังรวมความเป็นไปได้ในโครงการอื่นๆ เช่น แลนด์บริดจ์

 

 

– ทีมจากสภาพัฒน์และคณะกรรมการพิจารณาฯ ลงพื้นที่ทั้งฝ่ายอ่าวไทย/อันดามัน ในเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม

– ยังมีโครงการคู่ขนาน ในส่วนของทรัพยากรทางทะเล ทำโดยคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ สนับสนุนโดย สวทช. กรมทะเล และกรมอุทยาน ทำการศึกษาสิ่งมีชีวิตปากคลองไทย ฝั่งอันดามัน

– ผมเพิ่งจัดประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลเมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหลายสิบท่าน เช่น กรมทะเล กรมอุทยานหน่วยงานท้องถิ่น จนถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IUCN

– การศึกษาทำเพื่อปรับฐานข้อมูลความหลากหลายทางทะเล/สมุทรศาสตร์ ฯลฯ ให้มีรายละเอียดและทันสมัย สำหรับการพิจารณาที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนบางโครงการในอดีตที่ข้อมูล
สิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดความสงสัยในฐานข้อมูลทรัพยากร/สิ่งแวดล้อม

– โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ เสร็จต้นปีหน้า จึงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ แต่บอกได้ว่ามีการพบสิ่งมีชีวิตเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลเดิมของสผ. บางชนิดเป็นสัตว์ที่พบเป็นครั้งแรกในไทย

– ในส่วนของสัตว์ทะเลหายาก marine mammal ข้อมูลจากกรมทะเลระบุว่า พบในพื้นที่ 19 ชนิดจาก 28 ชนิดของไทย
โดยพบสัตว์ที่ IUCN จัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) 2 ชนิด

– มีรายงานสัตว์สงวนทางทะเลในพื้นที่ 4 ชนิดจาก 5 ชนิดของไทย

ฯลฯ

 

 

สุดท้าย การตัดสินใจสำหรับโครงการขนาดยักษ์ คงไม่ใช่เพียงแค่ใคร “คิด” อะไร

การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน

ข้อมูลที่ใช้พิจารณา จึงต้องทันสมัยและมีรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

นั่นคือเหตุผลที่พวกผมทำโครงการชีวิตปากคลองไทยฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน

เพราะความคุ้มค่าจะต้องอยู่บนรากฐานที่เราไม่ “ด้อยค่า” ธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมทางทะเลครับ”