ที่มาของภาพ, Thai News Pix
คำบรรยายภาพ, ภาพการ์ตูน อัญชัญ, อานนท์, วารุณี (จากซ้ายไปขวา) ผู้ต้องหาคดี 112 ที่อยู่ในเรือนจำในปัจจุบัน ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมรณรงค์นิรโทษกรรมประชาชนในวันคิกออฟแคมเปญ 1 ก.พ.Article information
เริ่มต้นเดือน ก.พ. ด้วยความเคลื่อนไหวสำคัญจากคนทั้งในและนอกรัฐสภา ในการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองระลอกใหม่ ท่ามกลางความเห็นต่างว่าจะล็อกไม่ให้ผู้ต้องหา/จำเลย “คดี 112” ได้รับอานิสงส์หรือไม่
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 ม.ค. ที่ระบุว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และสั่งให้ “เลิกการกระทำ” เลิกแสดงความคิดเห็น-พูด-เขียน-พิมพ์-โฆษณา-สื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย กำลังส่งผลสะเทือนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระบวนนิติบัญญัติของประเทศ
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขอดูรายละเอียดคำวินิจฉัยทั้งหมดของศาล และให้ฝ่ายกฎหมายของประธานสภาเสนอความเห็นต่อประธานรับทราบ หลังถูกถามว่า สมาชิกจะสามารถพูดถึงมาตรา 112 ในสภาได้อีกหรือไม่ รวมถึงสถานะของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จะเป็นเช่นไร
ปัจจุบันมีผู้ต้องหา/จำเลย คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 รวม 262 ราย ใน 287 คดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 34 รายที่ถูกคุมขังในเรือนจำ
แกนนำ “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเห็นว่า “นี่เป็นโอกาสเดียวและความหวังเดียวของนิรโทษกรรม”
บีบีซีไทยสรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ต่อวาระร้อนว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง
นับหนึ่งในสภา: ตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเมื่อ 1 ก.พ. เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จำนวน 35 คน ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอ โดยกำหนดกรอบเวลาทำงานไว้ 60 วัน
ท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลเรียกเสียงวิจารณ์จากรอบด้านว่าเป็นการ “ซื้อเวลา” และจงใจ “เตะถ่วง” กระบวนการหรือไม่ ทั้งที่มีประชาชนเดินเข้าคุกเพิ่มทุกวัน และมี สส. ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อประธานสภาแล้ว รอเพียงการบรรจุระเบียบวาระเท่านั้น
ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เจ้าของญัตติ ปฏิเสธข้อวิจารณ์ดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้ “ยื้อ และถ่วงเวลา” แต่เนื่องจากสังคมยังมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย จึงต้องการเชิญคนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมกันหาทางออกให้รอบคอบรัดกุมที่สุด
เธอย้ำด้วยว่า จะไม่มีการ “ยัดไส้” นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และจะไม่ให้นิรโทษกรรมความผิดต่อชีวิตเด็ดขาด
ที่มาของภาพ, STR/BBC Thai
คำบรรยายภาพ, ขัตติยา สวัสดิผล (คนกลาง) เป็นบุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ หรือ “เสธ.แดง” ซึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่แยกศาลาแดง ระหว่างการชุมนุม นปช. เมื่อ 13 พ.ค. 2553 ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้
แม้คนการเมืองในสภาสนับสนุนญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ สส.ฝ่ายค้าน กับรัฐบาล แสดงจุดยืนแตกต่างกันชัดเจนต่อคดี 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชนี องค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในระหว่างการอภิปรายกลางสภา 1 ก.พ. ซึ่งทำให้คาดเดาทิศทางและธงในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมของสภาชุดที่ 26 ได้
รัฐบาลประสานเสียง ไม่นิรโทษคดี 112
วัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรค พท. กล่าวว่า ไม่สนับสนุนให้นิรโทษความผิดตามมาตรา 112, ความผิดฐานทุจริต, ความผิดที่จะเปิดแผลเก่าหรือสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา และการประทุษร้ายร่างกาย ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งมี 71 เสียงในสภา ส่ง ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา อภิปรายเพียงคนเดียว โดยบอกว่า “ขอประกาศจุดยืนไม่แก้ 112 ไม่ต้องพูดเยอะ”
เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ผู้ประกาศคำขวัญ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้ส่งลูกพรรคอภิปรายสนับสนุนญัตติ แต่ขอมี “ลิมิตก้าวข้ามความขัดแย้ง”
“ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คนทำผิด ฝ่าฝืนมาตรา 112 เราไม่เอาครับ” อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา ประกาศจุดยืนในนาม พรรค 40 เสียง กลางสภา
สส.พลังประชารัฐ ยังฝากถึง กมธ. ให้คำนึงถึงระดับการนิรโทษกรรมว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด และตั้งเงื่อนไข “ไม่เอา” นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และบุคคลที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ชีวิต หรือระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการนิรโทษกรรมถ้าจะเกิดขึ้น ต้องเป็นความเห็นชอบของคนทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม ทุกแฟนคลับพรรค ถ้าเพิ่มความขัดแย้ง ไม่ต้องมี
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ก้าวไกล เรียกร้อง ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก-อย่าแปะป้าย ปชช.
ขณะที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล ส่ง สส. ที่เคยเป็นทนายความคดีการเมือง และอดีตนักกิจกรรมการเมือง 3 คนที่ตกเป็นจำเลยคดีการเมืองก่อนมาเป็นผู้แทนฯ ขึ้นอภิปรายสนับสนุนกระบวนการนิรโทษกรรมประชาชน
หนึ่งในนั้นคือ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวเรียกร้องให้ “ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก” โดยต้องไม่เริ่มต้นด้วยการจำกัดว่าถ้าทำผิดกฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้จะไม่ได้นิรโทษกรรม ถ้าเริ่มต้นจากการขีดเส้น จะทำให้มีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับความยุติธรรม
“เราต้องออกแบบประตูนี้ให้กว้างที่สุด ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าไปกำหนด ข้อหา เช่น ความผิดตามมาตรา 112 หากมีข้อหานี้ไม่ได้รับนิรโทษกรรม เราทำแบบนี้ไม่ได้”
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “คดีล้มล้างการปกครอง” ทำให้พื้นที่ของการหาทางออกวิกฤตทางการเมืองยากขึ้นเรื่อย ๆ ในทัศนะของ รังสิมันต์ แต่เขายังหวังว่าการพิจารณาวาระนิรโทษกรรมในที่ประชุมสภาจะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟบ้าง แม้ไม่ได้แก้วิกฤตทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยคืนเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งไม่ควรเป็นความผิดอาญาตั้งแต่แรก ให้กลับคืนสู่สังคม
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
คำบรรยายภาพ, หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความกังวลต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่อาจถูกตีความว่า แม้แต่การนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องขังคดี 112 “ถือว่าเป็นการลดการคุ้มครอง มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครอง”
จากนั้น รังสิมันต์ ได้นำเสนอ 4 หลักการของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล ซึ่งรอการบรรจุเข้าสภา เพื่อให้ กมธ. นำไปประกอบการพิจารณาศึกษา สรุปใจความสำคัญได้ว่า
- ไม่ควรกำหนดว่าถ้าผิดมาตรานั้นมาตรานี้ จะไม่นิรโทษ
- หากต้องจำกัดการนิรโทษกรรมจริง ๆ ควรเป็นความผิดลักษณะร้ายแรง เช่น ความผิดตามมาตรา 113 อย่างผู้ก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมการชุมนุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตีกบาลผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่นำไปสู่การพรากชีวิต อย่างนี้ไม่ควรได้นิรโทษ
- ต้องพึงตระหนักว่าผู้ชุมนุมต่างมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แม้ไม่สามารถนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งได้ แต่จำเป็นต้องพิจารณากลั่นกรองว่ากรณีใดควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งต้องมองทั้งมิติทางกฎหมายและมิติทางการเมืองควบคู่กัน พรรค ก.ก. จึงเสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในเวลา 2 ปี เพื่อชี้ขาดว่ากรณีใดสมควรได้รับการนิรโทษกรรม
- เปิดช่องให้สละสิทธิการรับนิรโทษกรรมได้ สำหรับผู้ที่กลัวว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น ผู้ที่เคยต่อต้านการนิรโทษกรรมมาก่อน
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรค ก.ก. หรือที่รู้จักในชื่อ “ทนายแจม” ลุกขึ้นอภิปรายเพื่อยืนยันหลักการว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนทำผิด หรือทำผิดให้เป็นถูก แต่เป็นการคืนความยุติธรรม คืนความปกติให้สังคม ประเทศ และผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม ให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะประชาชนคนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างที่ควรจะเป็น
“นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนในฐานะนักการเมืองที่พึงกระทำ โดยไม่ควรคำนึงถึงข้อหาใด ๆ เพราะหากเราไม่ปิดตาข้างนึง เราก็จะรู้ว่าการยัดเยียดข้อกล่าวหาต่าง ๆ เป็นการสร้างภาระในคดีเพื่อให้พวกเขาหยุดเคลื่อนไหว ปิดปากประชาชน และมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จึงเป็นหลักการสำคัญในการพิจารณาเพื่อนำคดีเข้าสู่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ฉบับพรรคก้าวไกล” ศศินันท์ กล่าว
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งเมื่อ 24 พ.ค. 2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียง 2 วัน โดยมี ศศินันท์ เป็นทนายความคนแรก
ศศินันท์ ระบุว่า การทำหน้าที่ทนายความให้กับผู้ชุมนุมมาตลอดกว่า 10 ปี ทำให้เห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ชัดขึ้น โดยเธอเล่าว่า
- ได้สัมผัสมาแล้วทั้ง “ความอยุติธรรม” ที่เกิดขึ้นกับนักโทษคดีการเมือง หรือ “อภินิหารทางกฎหมาย” การละเมิดสิทธิประชาชนโดยรัฐ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐ ผู้มีอำนาจ และประชาชนทั่วไป
- ได้ไปทั้งที่ศาล สถานีตำรวจ เรือนจำ ศาลทหาร ทำให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าไม่ช้าก็เร็วความเปลี่ยนแปลงมาถึงแน่นอน
- ได้สบตานักโทษคดีการเมืองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คู่ “ดิฉันเป็นทนายความร่วมกับทนายอานนท์ นำภา หลายคดี และพวกเขาคือคนธรรมดาที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง เพียงแค่หวังว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงได้”
“ยุคทมิฬแห่งการรัฐประหารผ่านไปแล้ว แต่ยังมีผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในเรือนจำ… บางคนกำลังรอการตัดสินนับถอยหลังเข้าเรือนจำไปทีละคน และดิฉันในฐานะทนายความไม่สามารถทิ้งพวกเขาได้แม้แต่คนเดียว” ศศินันท์ บอก
อดีตทนายความ ผู้ผันตัวมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยแรก ยังฝากถึงเพื่อนร่วมสภา ให้มองกลับไปยังประชาชนโดยไม่ต้องแปะป้ายว่าใส่เสื้อสีอะไร เลือกพรรคอะไร มีความคิดการเมืองแบบไหน ต่อสู้เรื่องอะไร แต่พวกเขาเหล่านั้นคือประชาชนที่มีความเชื่อ ความกล้าที่จะพูด และเชื่อว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้
นับหนึ่งบนท้องถนน: ล่า 10,000 ชื่อ ดันนิรโทษกรรมประชาชน
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เลือกใช้เดือนแห่งความรักจัดกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “ด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน” ต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน รวมประมาณ 40 กิจกรรม โดยคิกออฟตั้งแต่ 1 ก.พ. ด้วยการยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … ให้แก่ประธานสภา และแจ้งว่าเครือข่ายจะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภาต่อไป
รัฐธรรมนูญ มาตรา 133 (3) เปิดทางให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) หรือหมวด 5 (หน้าที่ของรัฐ) ได้
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ในวันสุดท้ายของกิจกรรมซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. เครือข่ายจะจัดส่งรายชื่อประชาชนต่อสภา และเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ มารับข้อเสนอของประชาชน ทว่าเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการโครงการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า อยากเจอหัวหน้าพรรคทุกคน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะ “สส. ของพรรค และประชาชนที่สนับสนุนพรรคต่างถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีทางการเมืองเป็นร้อยเป็นพันคน รวมทั้งยังไม่ได้กลับบ้าน ก็หวังว่าจะได้พบคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หน้าสภาวันที่ 14 ก.พ. เพื่อมารับร่างนี้จากประชาชน”
สำหรับ ประกายดาว เป็นบุตรสาวคนเล็กของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีตนักโทษคดี 112 ที่ถูกจองจำนาน 7 ปี โดย สมยศ เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนภายหลังรัฐประหารปี 2549 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ 23 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ใช้ 19 ก.ย. 2549 เป็นจุดเริ่มต้นในการนิรโทษกรรม โดยให้คดีที่เกิดเหตุตั้งแต่วันดังกล่าว “ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
อดีตนายกฯ ทักษิณ เดินทางกลับเข้าไทยในรอบ 15 ปี วันเดียวกับที่รัฐสภาโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 22 ส.ค. 2566 เขาเข้าสู่กระบวนมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนถวายฎีกา และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี ทว่าตลอดเวลาเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ทักษิณ ไม่ได้นอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ก็ถูกย้ายตัวไปรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งฉายาว่า “ชายชั้น 14” และ “นักโทษเทวดา”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
คำบรรยายภาพ, ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทยเมื่อ 22 ส.ค. 2566 โดยมีครอบครัว รัฐมนตรี สส. และมวลชนไปรอรับที่สนามบินดอนเมือง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) คาดหวังจะเห็นการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมาก เพื่อส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าสภาและไปให้ไกลที่สุด เพื่อคนที่อยู่ในเรือนจำและอาจจะต้องเข้าเรือนจำในไม่กี่วันข้างหน้า
“ขณะนี้มีผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาเดือนละประมาณ 10 คดี เฉลี่ยแล้วจะมีคนเดินเข้าคุก 2-3 คนทุกเดือน นี่เป็นโอกาสเดียวและความหวังเดียวของนิรโทษกรรม” ยิ่งชีพ กล่าว
ยอดผู้ต้องหา-จำเลย-นักโทษ ในระหว่างชุมนุมการเมือง
สำหรับจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 3,905 ราย ตามการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยที่ สส.ก้าวไกล ได้นำสถิติเหล่านี้มาอภิปรายกลางสภาเมื่อ 1 ก.พ.
- ปี 2551 อย่างน้อย 195 ราย (มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านรัฐบาลสมัคร-สมชาย)
- ปี 2552-2556 อย่างน้อย 1,763 ราย (มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปี 2552-2553 และการชุมนุมของ กปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2556)
- ปี 2557-2562 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล (มีการชุมนุมของ กปปส. ต่อเนื่องในปี 2557, การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐประหาร 2557 และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งเป็นระยะ ๆ)
- ปี 2563-ปัจจุบัน อย่างน้อย 1,947 ราย (มีการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 และแนวร่วม เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ)
เฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกล่าสุดของขบวนการราษฎรตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดี 1,947 ราย จาก 1,267 คดี แบ่งเป็น คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1,468 ราย, คดีเด็กและเยาวชน 286 ราย, คดีมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) 262 ราย, คดีมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) 147 ราย, คดีละเมิดอำนาจศาล 43 ราย, คดีดูหมิ่นศาล 34 ราย
เทียบ 4 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
ถึงขณะนี้มีผู้คนอย่างน้อย 4 กลุ่มออกมาประกาศผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่ 26 และเปิดเผยเนื้อหาของกฎหมายต่อสาธารณะแล้ว โดยมีทั้งกลุ่มที่ยื่นร่างต่อประธานสภาแล้วและยังอยู่ในกระบวนการ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กับร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชนซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้ชื่อเรียกเดียวกันและมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันมาก โดยทั้ง 2 พรรคใช้ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ยื่นต่อสภาชุดที่ 25 เมื่อ 22 ธ.ค. 2565 เป็นต้นร่าง ตามการเปิดเผยของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ โดยนำมาปัดฝุ่นใหม่และแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับรวมไทยสร้างชาติ-ครูไทยเพื่อประชาชนกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้นิรโทษกรรมคดี 112 ต่างจากฉบับประชาชนที่กำหนดให้ “นิรโทษกรรมทันที” คดี 112
บีบีซีไทยขอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ฉบับ ไว้ดังนี้
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
คำบรรยายภาพ, เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยพูดถึงการนิรโทษกรรมเพียงครั้งเดียวเมื่อ 13 ธ.ค. 2566 โดยระบุว่า “ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำให้” แต่ให้เป็นเรื่องของรัฐสภา
ฉบับก้าวไกล
- ชื่อ: พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เนื้อหา 14 มาตรา
- สถานะ: ยื่นร่างต่อประธานสภาเมื่อ 5 ต.ค. 2566 แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา
- ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 (วันแรกของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้
- เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง การสลายการชุมนุม ไม่ว่าเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ 2) การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และ 3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, คดีแบ่งแยกการปกครอง)
- ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม จำนวน 9 คน มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน
ฉบับครูไทยเพื่อประชาชน
- ชื่อ: พ.ร.บ.สร้างสันติสุข พ.ศ. …. เนื้อหา 9 มาตรา
- สถานะ: ยื่นร่างต่อประธานสภาเมื่อ 20 ธ.ค. 2566 แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา
- ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565
- เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3) การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
- ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จำนวน 7 คน มาจากการแต่งตั้งของ รมว.ยุติธรรม
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ฉบับรวมไทยสร้างชาติ
- ชื่อ: พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เนื้อหา 12 มาตรา
- สถานะ: ยื่นร่างต่อรองประธานสภาเมื่อ 25 ม.ค. 2567 แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา
- ช่วงเวลา: 2548-2565
- เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชนินี รัชทายาท) 3) การกระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4) การกระทำความผิดต่อส่วนตัวหรือที่เป็นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม
- ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข 9 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ฉบับประชาชน
- ชื่อ: ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เนื้อหา 13 มาตรา
- สถานะ: อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชาชน 1-14 ก.พ. เพื่อยื่นร่างต่อประธานสภาในเดือน ก.พ.
- ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้
- เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือกระทำเกินแก่เหตุ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (ความผิดฐานเป็นกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงผู้ก่อรัฐประหารนั่นเอง)
- เงื่อนไขพิเศษ: ให้นิรโทษกรรมทันที 5 ฐานความผิด 1) คดีความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 2) คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 3) คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา 4) คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 5) คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
- ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน จำนวน 19 คน มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน